ความแตกต่างระหว่างกฎหมายแรงงานประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น 7

2024.10.18

การจัดการเวลาพักของประเทศไทยที่ซับซ้อนกว่าประเทศญี่ปุ่น

ตามที่ได้กล่าวไปในบล็อกก่อนหน้า บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยจะต้องยึดปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีจุดที่แตกต่างกันอยู่มากเช่นกัน แต่เรื่องหนึ่งที่จัดการยากก็คือ “เวลาพัก” ครับ ในบทความนี้เรามาค่อย ๆ ไล่เรียงถึงความแตกต่างและข้อควรระวังเกี่ยวกับการจัดการเรื่องเวลาพักนี้ไปพร้อม ๆ กันนะครับ

ก่อนอื่นมาดูการจัดการเวลาพักตามกฎหมายพื้นฐานแรงงานประเทศญี่ปุ่นกัน

เวลาพักที่กำหนดไว้ตามกฎหมายพื้นฐานแรงงานประเทศญี่ปุ่นเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน

กฎหมายพื้นฐานแรงงานญี่ปุ่นระบุไว้ว่า หากมีเวลาทำงานเกิน 6 ชั่วโมง จะต้องมีเวลาพักระหว่างทำงานอย่างน้อย 45 นาที และหากมีเวลาทำงานเกิน 8 ชั่วโมง จะต้องมีเวลาพักระหว่างทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง กฎระเบียบอื่น ๆ นอกจากเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น อย่างเช่น กรณีทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือกรณีทำงานกะกลางคืนติดต่อกัน 16 ชั่วโมง ไม่ได้มีระบุเอาไว้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้มีกำหนดให้เพิ่มเวลาพักในกรณีเหล่านี้ แต่ถึงกระนั้นกรณีทำงานกะกลางคืน ก็มักจะมีการจัดสรรเวลาให้พนักงานสามารถไปพักงีบหลับระหว่างทำงานได้

การจัดการเวลาพักตามพรบ.คุ้มครองแรงงานประเทศไทย

ในทางกลับกัน เวลาพักที่กำหนดไว้ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานประเทศไทยมีหลายข้อ และซับซ้อนกว่าของประเทศญี่ปุ่น

โดยข้อที่เข้าใจง่ายที่สุด คือ หากทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 5 ชั่วโมง จะต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ดูเผิน ๆ แล้วกฎข้อนี้อาจจะคล้ายคลึงกับกฎที่ระบุไว้ในกฎหมายพื้นฐานแรงงานประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ต้องจัดการบริหารกฎข้อนี้อย่างระมัดระวัง

มาต่อกันที่กรณีถัดไป หากทำงานเกิน 8 ชั่วโมง (หรือ 9 ชั่วโมงในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงาน) และมีการทำงานล่วงเวลาต่อเนื่องไปอีก 2 ชั่วโมง จะต้องมีเวลาพักเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 20 นาทีก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลา ต่อเนื่องจากกรณีข้างต้น หากมีการทำงานล่วงเวลาเพิ่มเติมไปอีก 2 ชั่วโมง (รวมแล้วทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมง) ในกรณีนี้หากมีเวลาพักในเวลาทำงานปกติ 1 ชั่วโมง และเวลาพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลา 20 นาทีไปแล้ว นายจ้างสามารถพิจารณาให้หรือไม่ให้เวลาพักเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวไปก็ได้

นอกจากนี้ กรณีที่มีเวลาพักมากกว่า 2 ชั่วโมง เวลาพักที่เกินมานี้จะถูกนับเป็นเวลาทำงานด้วย ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจการบริการ ให้พนักงานไปพักได้ในช่วงที่ไม่มีลูกค้า เวลาที่พนักงานได้พักไปนั้นก็จะถูกนับรวมเป็นเวลาทำงานด้วยเช่นกัน

ข้อแตกต่างระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น การจัดการเวลาพักของประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยมีข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดอยู่ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อที่ 1 ประเทศไทยใช้ “การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน” เป็นเกณฑ์ในการจัดการเวลาพัก ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ “เวลาทำงานรวมต่อวัน” เป็นเกณฑ์ในการจัดการเวลาพัก ตัวอย่างเช่น หากทำงานช่วงเช้า 4 ชั่วโมง และกลับมาทำงานในช่วงบ่ายอีก 4 ชั่วโมง จะต้องได้เวลาพักอย่างน้อย 45 นาที

ในทางกลับกัน ประเทศไทยที่ใช้เกณฑ์เรื่อง “การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน” ตัวอย่างเช่น ธุรกิจการบริการ กรณีทำงานในช่วง 11:00 ถึง 14:00 น. มีเวลาพักคั่นกลางและกลับมาทำงานในช่วง 17:00 ถึง 20:00 น. ช่วงเวลา 3 ชั่วโมงระหว่าง 14:00 ถึง 17:00 น. จะไม่ถูกนับเป็นเวลาพัก เนื่องจากเวลาทำงานก่อนไปพักยังไม่ถึงเกณฑ์การทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 5 ชั่วโมง และจะไม่ถูกนับเป็นเวลาทำงานด้วยเช่นกัน

จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น หากมีการเว้นช่วงระหว่างการทำงาน ตามกฎหมายแล้วนายจ้างสามารถพิจารณาไม่ให้เวลาพักได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วการนำแนวคิดจากกรณีตัวอย่างข้างต้นมาใช้จริงนั้นค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก เนื่องจากต้องให้พนักงานเข้าออกงานหลายครั้งในหนึ่งวัน

มาลองดูตัวอย่างกรณีการจัดตารางเวลาใน 1 วันกัน

ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจการผลิต (โรงงาน) มักจะมีการแบ่งเวลาพักเป็นหลายช่วงเวลา

พักครั้งที่ 1: 10:00 – 10:10 (10 นาที่) 

พักครั้งที่ 2: 12:00 – 12:40 (40 นาที)

พักครั้งที่ 3: 15:00 – 15:10 (10 นาที)

จากกรณีข้างต้น จะมีเวลาพักรวมทั้งสิ้น 60 นาที

หากมีการทำข้อตกลงกับพนักงานล่วงหน้าก่อนแล้ว ก็สามารถจัดให้มีเวลาพักย่อยเป็นหลายครั้งเช่นนี้ได้

และสำหรับธุรกิจอื่น ๆ โดยทั่วไปแล้วมักจะจัดให้มีเวลาพักกลางวัน 60 นาที ในช่วง 12:00 ถึง 13:00 น. เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น

ข้อที่ 2 กรณีมีการทำงานล่วงเวลาเกิน 2 ชั่วโมง ต้องจัดให้มีเวลาพักอย่างน้อย 20 นาที โดยต้องให้พัก “ก่อน” เริ่มทำงานล่วงเวลา ทั้งนี้หากมีกรณีที่คาดว่าจะทำงานล่วงเวลา 1 ชั่วโมง แต่ทำงานเกินเวลาที่คาดการณ์ไว้จนเกินกว่า 2 ชั่วโมง กรณีนี้ก็ควรจัดเวลาพัก 20 นาทีก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาเอาไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกับกรณีก่อนหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง

ข้อที่ 3 หากเวลาพักเกิน 2 ชั่วโมง เวลาพักที่เกินมาจะถูกนับเป็นเวลาทำงาน ดังตัวอย่างกรณีธุรกิจบริการ ให้พนักงานไปพักได้ในช่วงที่ไม่มีลูกค้าที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้

ตัวอย่างเช่น

เวลาทำงาน: 9:00 – 18:00 น. (เวลาพัก 12:00 – 13:00 น.)

ออกไปพักเวลา 12:00 น. กลับมาทำงานเวลา 13:00 น. แต่ยังไม่มีลูกค้าจึงกลับไปพักต่อจนถึงเวลา 15:00 น.

จากกรณีข้างต้น มีเวลาพักตั้งแต่ 12:00 – 15:00 น. รวมทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง โดยเวลาพัก 3 ชั่วโมงนี้  2 ชั่วโมงจะถูกนับเป็นเวลาพัก ส่วนอีก 1 ชั่วโมงที่เหลือจะต้องถูกนับเป็นเวลาทำงานและจะต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานด้วย

ควรระบุเรื่องเวลาพักอย่างไรในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

จากที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น แนวคิดเรื่องการจัดการเวลาพักของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นนั้นแตกต่างกัน อีกทั้งกฎหมายแรงงานของประเทศไทยมีความเป็นกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) แตกต่างกับกฎหมายแรงงานของประเทศญี่ปุ่นที่มีการระบุรายละเอียดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เอาไว้อย่างชัดเจน ส่วนรายละเอียดที่ไม่ได้ระบุเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนก็จำเป็นต้องตรวจสอบจากคำพิพากษาจากคดีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น สุดท้ายนี้นายจ้าง (บริษัท) ควรจะต้องกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ครบถ้วนชัดเจน และแจ้งให้พนักงานรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

เขียนและเรียบเรียง
Mr. Sakae Baba
Social Insurance and Labor Consultant in Japan
แปล
Mr. Chanayut Kao-ian

แปลจาก: タイ労働法と日本労働法の違い⑦