2024.10.11
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมีความสำคัญอย่างไรในการจัดการแรงาน
อีกหนึ่งสิ่งที่กฎหมายแรงงานของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีเหมือนกันก็คือ “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” ที่เปรียบเสมือนกฎหมาย/รัฐธรรมนูญประจำบริษัท โดยการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนี้ สามารถกำหนดข้อบังคับต่าง ๆ ได้อย่างอิสระตราบเท่าที่ข้อกำหนดที่สร้างขึ้นไม่ขัดต่อกฎหมาย (และไม่ขัดต่อหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม) ในกรณีที่มีข้อกำหนดที่ขัดต่อกฎหมาย ข้อกำหนดดังกล่าวจะถือเป็นโมฆะ นอกจากนี้ตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้นายจ้าง (บริษัท) ที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (จำนวนลูกจ้างอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ)
โดยในบทความนี้จะมาพูดถึงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทำความเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็น และยกตัวอย่างจากกรณีที่เคยเกิดปัญหา มาค่อย ๆ ไล่เรียงไปพร้อม ๆ กันนะครับ
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง?
พรบ.คุ้มครองแรงงานประเทศไทย พ.ศ. 2541 มาตรา 108 กำหนดให้นายจ้าง (บริษัท) ที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ดังต่อไปนี้
- วันทำงาน เวลาทำงานปกติ และเวลาพัก
- วันหยุดและหลักเกณฑ์การหยุด
- หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด
- วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
- วันลาและหลักเกณฑ์การลา
- วินัยและโทษทางวินัย
- การร้องทุกข์
- การเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ
รายละเอียดอื่น ๆ นอกเหนือจากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น นายจ้างสามารถกำหนดขึ้นมาเพิ่มเติมได้เช่นกัน
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดขึ้นตามพรบ.คุ้มครองแรงงานประเทศไทย ต่างกับกฎหมายพื้นฐานแรงงานของประเทศญี่ปุ่น (มาตรา 89) อย่างไร ?
ในกฎหมายพื้นฐานแรงงานของประเทศญี่ปุ่น แบ่งหัวข้อของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานออกเป็นรายการที่ต้องกำหนดกับรายการที่เกี่ยวข้อง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างข้อบังคับที่กำหนดขึ้นตามพรบ.คุ้มครองแรงงานประเทศไทย มาตรา 108 กับกฎหมายพื้นฐานแรงงานประเทศญี่ปุ่น มาตรา 98 ดูแล้ว พบว่ามีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก เว้นแต่ข้อ 6. (วันัยและโทษทางวินัย) และข้อ 7. (การร้องทุกข์) ที่กล่าวไว้ข้างต้น ในกฎหมายพื้นญานแรงงานประเทศญี่ปุ่น ทั้ง 2 ข้อดังกล่าวจะถูกกำหนดไว้ในรายการที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ รายการที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายพื้นฐานแรงงานของประเทศญี่ปุ่น มาตรา 89 มีดังต่อไปนี้
ค่าชดเชยเกษียณอายุ
・ค่าจ้างชั่วคราว (โบนัส) และค่าจ้างขั้นต่ำ
・ค่าอาหารและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน
・ความปลอดภัยและสุขอนามัย
・การฝึกอบรมวิชาชีพ
・การชดเชยความเสียหายและการช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
・การยกย่องชมเชยและโทษทางวินัย
・ข้อกำหนดอื่น ๆ ที่บังคับใช้โดยทั่วกัน
โดยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานทั่วไปมักจะมีรายการที่เกี่ยวข้องเหล่านี้กำหนดไว้ด้วยเช่นกัน
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมักถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาคดีในศาลแรงงานของประเทศไทย
ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความแรก คดีที่เป็นปัญหาในศาลแรงงานประเทศไทยมีมากกว่าประเทศญี่ปุ่นราว ๆ 6 เท่า โดยที่ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับการเลิกจ้าง เช่น การเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้าง การเรียกร้องค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และการเรียกร้องค่าจ้างตามกำหนดเวลา เป็นต้น กรณีเหล่านี้คิดเป็น 45% ของคดีแรงงานที่มีการฟ้องร้อง หรือตีเป็นตัวเลขได้ประมาณ 8,800 คดีเลยทีเดียว
ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีคดีเกี่ยวกับการเลิกจ้างอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่คดีที่มีการดำเนินการฟ้องร้องไปถึงศาลแรงงานคิดเป็นประมาณ 50% (1,751 คดี) คดีทั่วไปประมาณ 30% (1,082 ดคี) เมื่อดูตัวเลขของจำนวนคดีแล้วก็พูดได้ว่าน้อยกว่าในประเทศไทยอยู่มาก
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเลิกจ้างดีล่ะ
ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาทั้งหมด แต่การกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ ไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างละเอียดก็เป็นวิธีหนึ่งที่ค่อนข้างใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น กำหนดกฎระเบียบไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า ห้ามด่าทอหรือเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทลงในโซเชียลมีเดีย ห้ามนำยาเสพติดผิดกฎหมายเข้ามาในบริษัท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบเหล่านี้หากกำหนดขึ้นมาไว้เพียงเพื่อตักเตือนก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร แต่กรณีที่มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับพนักงานที่ฝ่าฝืนกฎเอาไว้ด้วยนั้น หากมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎระเบียบจะต้องพิจารณาและไตร่ตรองให้ดีด้วย
กรณีที่มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงบทลงโทษสำหรับพนักงานที่ฝ่าฝืนกฎ อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลเสียก็เป็นได้ (ไม่เพียงแต่บทลงโทษาทางวินัย แต่รวมไปถึงการไม่ให้สวัสดิการหรือไม่จ่ายเงิน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังให้ดีด้วย) ถึงแม้ว่าจะกำหนดกฎระเบียบเอาไว้ แต่หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากพนักงาน ถ้าเกิดมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นกฎระเบียบและบทลงโทษก็อาจเป็นโมฆะได้
ดังนั้นหากมีการพิจารณาแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ ก็ควรคิดและไตร่ตรองถึงกฎข้อห้ามต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนและครอบคลุมทุก ๆ กรณีที่อาจจะเกิดขึ้นได้เอาไว้ด้วย
นอกจากนี้ก็มีเรื่องของหนังสือแจ้งเงื่อนไขการทำงาน (สัญญาจ้าง) ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพื้นฐานแรงงานประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้มีกำหนดไว้ในพรบ.คุ้มครองแรงงานประเทศไทย โดยการที่นายจ้างและลูกจ้างลงนามรับทราบในสัญญาร่วมกันทั้งสองฝ่ายนี้เป็นวิธีป้องกันและลดปัญหาเกี่ยวกับแรงงานได้ดีวิธีหนึ่ง
ข้อควรระวังในการจ้างชาวญี่ปุ่นเข้าทำงาน
การจ้างงานในประเทศไทยก็มีกรณีที่จ้างชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยอยู่มาก ในกรณีนี้ก็มักพบว่าชาวญี่ปุ่นที่จ้างเข้ามานั้นได้ค่าจ้างที่สูงกว่าชาวไทย และชาวญี่ปุ่นเหล่านี้ก็จะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามพรบ.คุ้มครองแรงงานประเทศไทย ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมายพื้นฐานแรงงานประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น หากมีกรณีที่ในสัญญาจ้างระบุไว้ว่า “ค่าชดเชยในการเลิกจ้างถูกรวมไว้กับค่าจ้างแล้ว จึงจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้” และมีการบอกกล่าวด้วยวาจาแล้วก็ตาม แต่หากว่ามีการฟ้องร้องขึ้นมารายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวก็จะถือเป็นโมฆะ และผลที่ตามมาหลังจากนั้นก็อาจจะไม่ดีนัก
ปัญหาที่บริษัทญี่ปุ่นมักเจอ (ในข้อบังคับในเกี่ยวกับการทำงานของประเทศไทย)
ในศาลแรงงานประเทศไทย ถึงแม้ว่าผู้เกี่ยวข้องในคดีที่เป็นปัญหาจะเป็นคนญี่ปุ่นหรือชาวต่างชาติชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนไทยก็ตาม ศาลก็จะพิจารณาตัดสินโทษโดยอ้างอิงจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่จัดทำขึ้นเป็นภาษาไทย
ในบริษัทญี่ปุ่นมีพนักงานชาวญี่ปุ่นที่สื่อสารภาษาไทยได้ค่อนข้างน้อย และมักจะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลักเสียมากกว่า
บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย มักจะจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ และมีการอัปเดตเนื้อหาของกฎระเบียบต่าง ๆ อยู่เสมอ อย่างไรก็ตามปัญหาทางด้านภาษาก็ทำให้การอัปเดตเนื้อหาในฉบับบภาษาไทยติดขัดหรือล่าช้า นอกจากนี้ก็อาจมีกรณีที่เนื้อหาที่ระบุไว้ในฉบับภาษาญี่ปุ่นและภาาาอังกฤษ ถูกละไว้หรือไม่ได้ระบุไว้ในฉบับภาษาไทยด้วยเช่นกัน
ดังนั้นแล้ว จึงอยากให้ทุกท่านใช้โอกาสนี้ลองตรวจสอบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทตัวเองกันดูนะครับ
แปลจาก: タイ労働法と日本労働法の違い⑥