2024.8.7
เวลาการทำงานของประเทศไทยและประเทศญี่ปุน
โดยทั่วไปแล้วกฎหมายแรงงานประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้มีเวลาการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
แล้วเวลาการทำงานตามกฎหมายแรงงานประเทศไทยล่ะเป็นแบบไหนกัน มาลองเปรียบเทียบและไล่เรียงไปพร้อม ๆ กันนะครับ
ก่อนอื่นมาดูกันที่กฎหมายแรงงานของประเทศญี่ปุ่นกัน
โดยทั่วไปกำหนดให้มีเวลาการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ทั้งนี้กฎหมายก็กำหนดให้สามารถเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงานได้ เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงาน เช่น การปรับเพิ่มเวลาการทำงานในช่วงเวลาหนึ่งแต่ยังมีเวลาการทำงานโดยเฉลี่ยอยู่ในขอบเขต การกำหนดเวลาทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible time) การกำหนดเวลาการทำงานให้เหมาะสมตามลักษณะเฉพาะของงาน การปรับวิธีนับเวลาทำงานกรณีออกไปทำงานนอกสถานที่ เป็นต้น
ระบบเวลาการทำงานที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ต่างกับระบบเวลาการทำงานตามปกติ แต่ก็กำหนดขึ้นมาตามพื้นฐานของกฎหมายแรงงาน และมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย
เวลาการทำงานตามกฎหมายแรงงานไทย
ทีนี้มาดูเวลาการทำงานของประเทศไทยกัน พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 23 กำหนดให้มีเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้กฎหมายแรงงานประเทศไทยไม่ได้กำหนดให้สามารถเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงาน หรือมีเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่นเหมือนกับกฎหมายแรงงานประเทศญี่ปุ่น
กล่าวคือกฎหมายแรงงานประเทศไทยไม่มีกำหนดเวลาการทำงานที่นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทั่วไป
เวลาการทำงานของประเทศไทยไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ในประเทศไทยไม่สามารถให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาการทำงานตามที่ฎหมายกำหนดได้ ในกรณีที่มีการทำงานเกินกว่าเวลาการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้าง
กฎหมายกำหนดให้มีเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์ และมีเวลาการทำงานไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในกรณีที่มีวันหยุด 2 วัน ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ เท่ากับว่ามีเวลาการทำงานเพียงแค่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น
ในกรณีนี้พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 23 วรรคที่ 1 บัญญัติไว้ว่า หากเวลาการทำงานไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นายจ้างสามารถให้ลูกจ้างทำงานให้ครบจำนวนเวลาที่กำหนดไว้ได้ ตัวอย่างเช่น กำหนดให้ทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ ก็จะมีเวลาการทำงาน 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในกรณีนี้นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในส่วนของเวลา 1 ชั่วโมงที่เกินมาจากจากชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันตามที่กฎหมายกำหนด
แม้ว่ากฎมายแรงงานประเทศไทยจะไม่ได้กำหนดให้สามารถเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงานได้ (เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น) แต่ในความเป็นจริงก็มีการปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานอยู่บ้างเช่นกัน
หากกำหนดให้มีเวลาการทำงานไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าอย่างนั้นแล้วก็สามารถกำหนดเวลาการทำงานใน 1 วันให้มีกี่ชั่วโมงก็ได้ใช่หรือไม่ ?
หากกำหนดให้มีเวลาการทำงานไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แบบนั้นสามารถกำหนดให้ใน 1 วันมีเวลาการทำงาน 10 หรือ 11 ชั่วโมงก็ได้ใช่หรือไม่ แน่นอนว่าคำตอบคือ “ไม่ได้” ครับ หากกำหนดให้มีเวลาการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน อย่างมากที่สุดจะสามารถกำหนดให้มีเวลาการทำงานได้ไม่เกิน 9 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
กฎหมายแรงงานประเทศไทยมีบัญญัติเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาเหมือนกับข้อตกลงร่วมมาตรา 36 ในกฎหมายแรงงานประเทศญี่ปุ่นหรือไม่
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ “ข้อตกลงร่วมมาตรา 36” ในกฎหมายแรงงานประเทศญี่ปุ่นกัน ข้อตกลงร่วมมาตรา 36 เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในการอนุญาตให้ทำงานล่วงเวลา กฎหมายแรงงานประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้มีเวลาการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในกรณีที่ให้ทำงานเกินเวลาทำงานตามกฎหมาย นายจ้างมีหน้าที่ต้องทำข้อตกลงร่วมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและยื่นเรื่องต่อสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงาน โดยการทำข้อตกลงและยื่นเรื่องต่อสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงานนี้ นายจ้างจะได้รับการละเว้นโทษทางอาญาในการสั่งให้ทำงานเกินเวลาตามกฎหมายกำหนด
แล้วกฎหมายแรงงานประเทศไทย มีกำหนดข้อตกลงในการทำงานล่วงเวลาหรือไม่ ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานประเทศไทย ไม่มีกำหนดข้อตกลงร่วมเหมือนกับกฎหมายแรงงานประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้การทำงานล่วงเวลาของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่นายจ้างเป็นผู้กำหนด ยกตัวอย่างจากกรณีที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ นายจ้างกำหนดให้ทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ และมีชั่วโมงการทำงานรวม 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แม้ว่านายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในกรณีนี้ แต่เนื่องจากมีเวลาการทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน จึงต้องระมัดระวังในการกำหนดข้อตกลงให้เป็นที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย
การทำงานล่วงเวลาตามนายจ้างกำหนดกับการทำงานล่วงเวลาตามกฎหมายกำหนด
การทำงานล่วงเวลาของประเทศญี่ปุ่นแบ่งเป็น “การทำงานล่วงเวลาจากเวลาการทำงานที่นายจ้างกำหนด” กับ “การทำงานล่วงเวลาจากเวลาการทำงานที่กฎหมายกำหนด” ซึ่งมีรายละเอียดและวิธีการจัดการทางกฎหมายต่างกัน
มาลองดูตัวอย่างเพื่อประกอบการอธิบายกัน เริ่มจาก “การทำงานล่วงเวลาตามกฎหมายกำหนด” ตามกฎหมายแรงงาน กรณีที่ให้ทำงานเกินเวลาตามกฎหมายกำหนด (ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน) นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตรา 1.25 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ทั้งนี้ก็มีกรณีที่นายจ้างกำหนดเวลาทำงานต่างไปจากที่กฎหมายกำหนด เช่น 7 ชั่วโมงครึ่ง 7 ชั่วโมง 45 นาที ด้วยเช่นกัน
กรณีดังกล่าวที่เวลาการทำงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน จัดเป็น “การทำงานล่วงเวลาตามนายจ้างกำหนด” โดยเวลาการทำงานที่เกินมาจากเวลาทำงานที่กำหนดจะนับเป็นการทำงานล่วงเวลา และนายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราเทียบเท่าหรือมากกว่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน
กฎหมายแรงงานประเทศไทยไม่มีการแบ่งประเภทของการทำล่วงเวลา
อัตราค่าล่วงเวลาตามที่กฎหมายแรงงานประเทศไทยกำหนด คือ 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ซึ่งมากกว่าของประเทศอยู่ปุ่นอยู่ 0.25 เท่า กฎหมายแรงงานประเทศญี่ปุ่นอัตราค่าล่วงเวลาจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็น “การทำงานล่วงเวลาตามนายจ้างกำหนด” หรือ “การทำงานล่วงเวลาตามกฎหมายกำหนด” ส่วนกฎหมายแรงงานประเทศไทยไม่มีการแบ่งประเภทของการทำงานล่วงเวลาแบบประเทศญี่ปุ่น และจะคำนวนอัตราค่าล่วงเวลา 1.5 เท่าจากเวลาการทำงานที่เกินมา
ดังนั้นแล้วต้องระมัดระวังเรื่องการกำหนดเวลาในการทำงานล่วงเวลาให้ดีด้วย
ในบทความถัดไป ผู้เขียนจะมาพูดเกี่ยวกับวันหยุด วันลาของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ไว้รอติดตามกันนะครับ
แปลจาก: タイ労働法と日本労働法の違い②